ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ)
เข้าสู่ระบบ / สมัครสมาชิก
รายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทย

บทความ

Card image
ปัญหามลพิษอากาศจากการเผาขยะในที่โล่ง

ปัญหามลพิษอากาศจากการเผาขยะในที่โล่ง ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่ทุกคนพูดถึง คือ ปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก หรือที่บรรดานักวิชาการเรียกขานว่า ฝุ่น PM2.5 ที่ตอนนี้หันซ้าย หันขวาไปทางไหน ก็มีแต่คนพูดถึงในประเด็นต่าง ๆ เช่น “แสบจมูกไปหมดแล้วเนี่ย ฝุ่นเยอะ” หรือ “เอ๊ะ นี่มันฝุ่นหรือหมอกเนี่ย ทำไมท้องฟ้าขมุกขมัวจัง” โดยดูเหมือนว่าทุกคนจะเริ่มหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวแล้ว แต่วันนี้ที่เราจะพูดถึง คือ ฝุ่นกับขยะ แล้วฝุ่นกับขยะเกี่ยวกันได้อย่างไร ฝุ่นก็ฝุ่นซิ ลอยในอากาศไปทั่ว ขยะก็ขยะ เป็นของแข็ง พบเห็นทิ้งทั่วไป แล้วมันมาเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร จริง ๆ แล้ว มันมีความสำคัญอย่างแยกจากกันไม่ได้ และทุกคนก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจมีส่วนทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้น เพราะอะไรน่ะหรือ...? ทุกคนคงไม่ปฏิเสธว่าทุกวันนี้ทุกคนทำให้เกิดขยะมากน้อยแตกต่างกันออกไป โดยเฉลี่ยก็อยู่ที่ประมาณ 1 กิโลกรัม/คน/วัน ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตของแต่ละคน เช่น บางครัวเรือนทำอาหารรับประทานเอง ก็อาจจะเกิดขยะจากครัวเรือนซึ่งเป็นเศษอาหารมาก ในขณะที่บางบ้าน เป็นแม่บ้านถุงพลาสติก หลังเลิกงานก็แวะซื้ออาหารจากร้านจำหน่ายอาหาร ขยะที่เกิดขึ้นก็จะกลายเป็นถุงพลาสติกเป็นส่วนมาก หลังจากนั้นก็จะเกิดเศษอาหารที่เหลือจากการกินในแต่ละมื้อ จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ในปี 2565 ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้น 25.70 ล้านตัน หรือ 70,411 ตัน/วัน หรือเฉลี่ยเท่ากับ 1.07 กิโลกรัม/คน/วัน ภายหลังจากเกิดขยะขึ้นจากชีวิตประจำวันแล้ว แต่ละครัวเรือนมีวิธีการจัดการที่แตกต่างกันออกไป บางครัวเรือน มีการคัดแยกขยะ นำขยะที่สามารถจำหน่ายได้ไปจำหน่ายให้กับรถซาเล้งเป็นรายได้อีกทางหนึ่งของครัวเรือน หรือแยกเศษอาหารหรือขยะอินทรีย์ เช่น ใบไม้ ต้นไม้ นำไปทำปุ๋ย ในขณะที่บางครัวเรือนรวบรวมขยะทั้งหมดทิ้งใส่ถังขยะเพื่อรอให้กทม.หรือเทศบาลหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบมาเก็บขนไป หรือบางครัวเรือนในต่างจังหวัดที่รถเก็บขนขยะไม่ได้เข้าไปเก็บขนก็จะรวบรวมขยะเหล่านั้นและเผาในที่โล่งบริเวณบ้านเรือนหรือที่พักของตนเอง หรือเรียกว่า การเผาขยะในที่โล่ง ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า การเผาขยะในที่โล่ง คือ การเผาขยะในครัวเรือนที่ดำเนินการโดยตัวผู้พักอาศัยในพื้นที่ของตนเอง โดยทั่วไปแล้วขยะที่ถูกเผา จะเป็นขยะที่เผาไหม้ได้ง่าย เช่น กระดาษ เศษอาหาร เศษกิ่งไม้ใบหญ้า เศษอาหาร และขยะอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นภายในชีวิตประจำวันภายในครัวเรือน หรือแม้แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งเอง ภายหลังรวบรวมขยะจากครัวเรือนหรือบ้านเรือนต่าง ๆ ได้แล้ว ก็จะทำการเผาเพื่อลดปริมาณขยะที่เก็บขนมาได้รวมทั้งเพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับกำจัดขยะต่อไป เมื่อพิจารณาภาพรวมการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น 25.70 ล้านตัน ถูกจัดการกันเองโดยบ้านเรือนและชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่มีการให้บริการเก็บขน 1.70 ล้านตัน (ร้อยละ 7 ของปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น) และมีถึงประมาณ 5.40 ล้านตัน (ร้อยละ 21 ของปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น) ถูกนำไปกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยซึ่งดำเนินการไม่ถูกต้อง จำนวน 1,963 แห่ง ประกอบด้วย การเทกองที่มีการควบคุม (Controlled Dump) การเทกอง (Open Dump) การเผากลางแจ้ง (Open Burn) การใช้เตาเผาขนาดที่ไม่มีระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ ซึ่งล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษอากาศตามมาทั้งสิ้น มลพิษอากาศที่เกิดขึ้นจาการเผาขยะ ได้แก่ ก๊าซต่างๆ ที่เกิดจากการเผาไหม้ อาทิ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ สารอินทรีย์ระเหย รวมทั้งฝุ่นละออง ควัน เถ้า เขม่า นอกจากนี้ ยังอาจพบสารพิษจากการเผาขยะบางประเภท เช่น เบนซิน ไดออกซิน ที่เกิดจากการเผาพลาสติก ซึ่งสารทั้งสองนี้เป็นสารก่อมะเร็ง จากมลพิษที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าการเผาขยะในที่โล่งนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าที่คิดไว้ ในเบื้องต้น อาจทำให้เกิดอาการผื่นคัน คลื่นไส้ และปวดหัว หรือหากระหว่างการเผามีการสูดดมสารพิษเข้าไปก็จะเป็นโรคที่รุนแรงตามมาขึ้นอยู่กับสารพิษที่สูดดมเข้าไป คงถึงเวลาแล้ว ที่เราคงต้องนำหลักการ 3R ง่าย ๆ เข้ามาใช้จัดการขยะเพื่อลดปัญหาและผลกระทบจากมลพิษอากาศจากการเผาขยะในที่โล่ง เริ่มตั้งแต่การลดปริมาณขยะให้น้อยที่สุด (Reduce) ซึ่งจะทำให้ขยะที่ต้องนำไปกำจัดลดน้อยลง ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ การนำขยะที่เกิดขึ้นไปใช้ประโยชน์ซ้ำ (Reuse) รวมทั้งการนำขยะไปแปรรูปเพื่อนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ (Recycle) เราก็จะสามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาขยะและปัญหามลพิษอากาศไปพร้อม ๆ กัน

Read more
Card image
…. ตรุษจีนกับมลพิษอากาศ……

…. ตรุษจีนกับมลพิษอากาศ…… ใกล้จะถึงเทศกาลตรุษจีน โดยในปีนี้ วันไหว้ ตรงกับวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ส่วนวันเที่ยว ตรงกับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ซึ่งชาวไทยเชื้อสายจีนต่างเตรียมตัวกับการไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษแล้ว ซึ่งของไหว้จะมีทั้งอาหารคาว หวาน ผลไม้ และสิ่งของมงคลต่าง ๆ แต่สิ่งที่มาพร้อมเทศกาลตรุษจีน คือ การควันธูปจากการจุดไหว้ และการเผากระดาษเงินกระดาษทองและการจุดประทัด เพื่อส่งไปให้บรรพบุรุษใช้ภายหลังการเสียชีวิตตามความเชื่อ โดยบรรพบุรุษจะส่งกลับคืนมาให้กับลูกหลาน เพื่อให้ลูกหลานร่ำรวย ดังนั้น จึงมีการจุดธูปและเผากระดาษเงินกระดาษทองเพื่อหวังให้บรรพบุรุษส่งกลับคืนมามาก ๆ โดยลืมไปว่าระหว่างที่ทำการไหว้และเผากระดาษเงินกระดาษทองเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อมลพิษอากาศและสุขภาพอนามัยทั้งของตนเองและคนรอบข้าง ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ในข่วงเทศกาลตรุษจีน ปริมาณฝุ่น PM2.5 และมลพิษอากาศอื่น ๆ เพิ่มสูงขึ้นในหลายสถานี โดยเฉพาะบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลซึ่งมีการจุดธูปและเผากระดาษเงินกระดาษทองสูง ข้อมูลจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ระบุว่าควันธูปมีสารก่อมะเร็ง 3 ชนิด ได้แก่ เบนซิน บิวทาไดอีน และเบนโซเอไพรีน มีส่วนประกอบมาจากกาว ขี้เลื่อย น้ำมันหอมและสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม เป็นต้น โดยสารก่อมะเร็งเกิดจากการเผาไหม้ของกาว และน้ำหอม เป็นสำคัญ โดยธูป 1 ดอก จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 325 กรัม และก๊าซมีเทน 7 กรัม ซึ่งมีศักยภาพเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถึง 23 เท่า นอกจากนี้ ยังมีสารพิษอื่นๆ อีก ซึ่งมีส่วนในการก่อให้เกิดมะเร็งชนิดต่างๆ อาทิ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งในระบบเลือด มะเร็งปอด และมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ สำหรับกระดาษเงินกระดาษทอง ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ พบว่า กระดาษเงินกระดาษทองแผ่นใหญ่ชนิดฉาบตะกั่ว หรือที่เรียกกันว่า “เงิ่นเตี๋ย” มีปริมาณตะกั่วสูงถึง 85.6 มิลลิกรัมต่อแผ่น กระดาษทองแผ่นเล็กชนิดฉาบตะกั่ว หรือที่เรียกกันว่า “ตั้วกิม” มีปริมาณตะกั่ว 20.8 มิลลิกรัมต่อแผ่น ซึ่งตะกั่วถือเป็นสารโลหะหนักที่ต้องระวังอันตรายในการสัมผัส ซึ่งอาการพิษของตะกั่ว มีทั้งอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน หรือปวดท้องบริเวณรอบสะดือ บ้างอาจมีอาการท้องผูก โลหิตจาง มึนชาอวัยวะแขนขา ไม่มีสมาธิ ความจำถดถอย ถ้าในรายที่มีระดับตะกั่วสูงมากอาจมีอาการชัก ซึม หมดสติ และเสียชีวิตได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยลดมลพิษอากาศ ลดฝุ่น PM2.5 และรักษาสุขภาพของเราเอง สิ่งที่เราควรทำ คือ จุดธูปหรือเผาเท่าที่จำเป็นโดยจุดหรือเผาให้น้อยที่สุด เปลี่ยนมาใช้ธูปที่มีขนาดเล็ดลง ความยาวสั้นลง หรือเปลี่ยนมาใช้ธูปไฟฟ้าแทนธูปที่ต้องใช้การจุด หากจำเป็นต้องเผา ต้องไม่ทำในบริเวณที่มีสภาพอากาศเป็นลักษณะปิด หลังการจุดหรือเผาให้หาอะไรปิดหรือพรมน้ำไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายในอากาศ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เผาในที่โล่ง ซึ่งลมอาจพัดพาให้กระฟุ้งกระจายในวงกว้างได้ มาเถอะ…………… มาช่วยกันเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน ไปพร้อมกับการรักษาโลกและลดมลภาวะอากาศกัน…… อ้างอิง นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ และ ดร.พนิดา นวสัมฤทธิ์. สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์. อ้างอิงจาก งานวิจัยเผย “ควันธูป” มีสารก่อมะเร็ง. https://www.thaihealth.or.th/งานวิจัยเผย-ควันธูป-มี/#:~:text=ควันธูปมีสาร,ที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม. กรมวิทยาศาสตร์บริการ. มลพิษจากกระดาษเงินกระดาษทอง. http://lib3.dss.go.th/fulltext/dss_j/2526_ 102_7.pdf.

Read more
Card image
ไม่เผาอ้อยก่อนตัดส่ง ช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ

มาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับเงินที่หักจากค่าอ้อยไฟไหม้ อ้อยยอดยาว และอ้อยที่มีกาบใบ พ.ศ. 2561 การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ไม่ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยด้วยวิธีการเผาไร่อ้อยก่อนตัดส่งเข้าโรงงานน้ำตาล ซึ่งอาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 วรรคแรก ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท มาตรา 25 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 การกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ นอกจากนี้ ยังประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่าเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสดคุณภาพดี จะได้รับเงินเฉลี่ยในอัตราร้อยละ 70 ของเงินที่หักจากอ้อยไฟไหม้ อ้อยยอดยาว และอ้อยที่มีกาบใบในอัตราตันละ 30 บาท และในกรณีที่เงินเหลือจากการจ่ายคืนให้อ้อยสดคุณภาพดี ให้คณะทำงานควบคุมการผลิตประจำแต่ละโรงงานพิจารณาจัดทำโครงการส่งเสริมการตัดอ้อยสดแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ อ้อยยอดยาว อ้อยที่มีกาบใบ และการขาดแคลนแรงงาน โดยความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการบริหารส่วนท้องถิ่น

Read more
Card image
การสื่อสารข้อมูลฝุ่น PM2.5 ของภาครัฐ ต้องเข้าใจง่าย กระชับ ทันเหตุการณ์ สอดคล้องความสนใจและพฤติกรรมคนรุ่นต่าง ๆ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดจิต ครุจิต อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงการสื่อสารข้อมูลฝุ่น PM2.5 ของประเทศไทย 6 ข้อ ดังนี้ 1) การสร้างการรู้เท่าทันสื่อให้กับประชาชน ภาครัฐควรพยายามสร้างการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) ให้กับประชาชน เพื่อให้เกิดทักษะการคิด วิเคราะห์ สังเกต และตั้งคำถาม โดยเฉพาะเมื่อได้รับข้อมูลจากสื่อที่ทำการตลาดแบบเน้นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง (Viral Marketing) และสนับสนุนให้หาข้อมูลด้วยตัวเอง ไม่เพียงแต่รับข้อมูลที่ถูกป้อนให้เท่านั้น 2) การส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจด้านวิชาการอย่างทั่วถึง ทุกภาคส่วนควรส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาฝุ่น PM2.5 และนำเสนออย่างทั่วถึง เช่น Web Site ของหน่วยงานที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพอากาศ ควรมีคำอธิบายทางวิชาการประกอบเพื่อให้ประชาชนและสื่อมวลชนสามารถศึกษา ทำความเข้าใจ และนำไปเผยแพร่ต่อได้อย่างถูกต้อง 3) การฟื้นฟูความน่าเชื่อถือของข้อมูลภาครัฐ ภาครัฐประสบปัญหาวิกฤตศรัทธาจากการนำเสนอข้อมูลที่ขัดแย้งกับความรู้สึก เนื่องจากประชาชนต้องการทราบค่าฝุ่นในแบบเวลาจริง แต่ภาครัฐเน้นย้ำให้เชื่อถือค่าฝุ่นรายวันจาก Air4Thai ซึ่งมีค่าไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เกิดเป็นกระแสความไม่เชื่อถือและต่อต้านการใช้ Application ดังกล่าว จึงควรเร่งฟื้นฟูความเชื่อถือโดยการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา ชี้แจงประเด็นที่สังคมสับสน ทำความเข้าใจบริบทของสังคม และพยายามปรับปรุงการทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น 4) การยกระดับความร่วมมือของภาครัฐและภาคประชาสังคม ภาครัฐและภาคประชาสังคมควรหาแนวทางประสานงานและยกระดับความร่วมมือในการจัดการสถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น การตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน เพื่อสนับสนุนการทำงาน หรือการสร้าง Platform ร่วมที่แสดงผลการตรวจวัดของสถานีภาครัฐและเครือข่ายเครื่องวัดแบบ Low-Cost Sensor ของภาคประชาสังคมในแผนที่เดียวกัน เป็นต้น 5) การส่งเสริมด้านจริยธรรมและมาตรฐานสื่อ ภาครัฐและองค์กรวิชาชีพด้านสื่อมวลชนควรส่งเสริมด้านจริยธรรมและมาตรฐานสื่อ ให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อปฏิบัติงานอย่างมีมาตรฐาน มีความเป็นกลาง ไม่นำเสนอโดยหวังผลทางการตลาดเป็นหลัก มีการตรวจสอบยืนยัน ข้อมูลก่อนนำเสนอออกสู่สาธารณะ และนำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้าน 6) การเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารภาครัฐ การสื่อสารข้อมูลของภาครัฐ ควรมีเนื้อหาที่เข้าใจง่าย กระชับ ทันเหตุการณ์ และควรมีช่องทางที่หลากหลายเพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้การเลือกใช้สื่อ เทคโนโลยี ผู้นำเสนอ หรือรูปแบบการสื่อสารควรเหมาะสมกับความสนใจและพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของคนรุ่น (Generation) ต่าง ๆ อ้างอิง : องค์ความรู้เรื่อง "การสื่อสารข้อมูลฝุ่น PM2.5 และบทบาทของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง" โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดจิต ครุจิต

Read more

ข่าวประชาสัมพันธ์

Card image
กิจกรรม ที ลีสซิ่ง เปื้อนยิ้ม เพิ่มห่วงใย

กิจกรรม ที ลีสซิ่ง เปื้อนยิ้ม เพิ่มห่วงใย ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) นำโดย ดร.พัชราวดี สุวรรณธาดา หัวหน้ายุทธศาสตร์ที่ 3 ร่วมจัดกิจกรรม ที ลีสซิ่ง เปื้อนยิ้ม เพิ่มห่วงใย กับศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ และภาคีเครือข่าย ระหว่างวันที่ 3 และ 4 เมษายน พ.ศ. 2567 ณ Avenue Zone A ชั้น G ภายในงานมีการตรวจสภาพรถและเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ฟรี! จากบริษัท ฮอนด้า และ ยามาฮ่า รวมถึงการตรวจวัดควันดำ ฟรี! จาก กรมควบคุมมลพิษ นอกจากนี้ ศวอ. ได้ร่วมการเสวนาพิเศษ หัวข้อ รอบรู้ สู้ฝุ่น PM2.5 เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการรับมือและป้องกันตัวจากมลพิษอากาศในปัจจุบัน ทั้งนี้ “กิจกรรม ที ลีสซิ่ง เปื้อนยิ้ม เพิ่มห่วงใย” เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับการดำเนินงานของโครงการเขตมลพิษต่ำ ระยะที่ 2 (Low emission zone II) โดยศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศและกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายใน 5 เขต ได้แก่ ปทุมวัน ป้อมปราบศัตรูพ่าย บางรัก คลองสาน และคลองเตย เพื่อส่งเสริมกิจกรรมที่สามารถลดการปลดปล่อยมลพิษอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

Read more
Card image
เสวนาพิเศษเรื่อง หัวขวานลดไฟ ไร้ฝุ่น PM2.5 (งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ)

เสวนาพิเศษเรื่อง หัวขวานลดไฟ ไร้ฝุ่น PM2.5 (งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567 ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) จัดกิจกรรมเสวนาพิเศษเรื่อง หัวขวานลดไฟ ไร้ฝุ่น PM2.5 ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 นำโดย รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล รอง ผอ.ศวอ. ฝ่ายวิชาการ และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 ท่าน ได้แก่ 1. ดร.เจน ชาญณรงค์ กรรมการวิชาการ ศวอ. 2. ผศ.สพ.ดร.วรพร สุขุมาวาสี หัวหน้าโครงการผลิตนิทานสำหรับเด็กปฐมวัย 3. คุณเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป นักเขียน (ผู้เขียนนิทานทั้ง 3 เล่ม) 4. คุณลภัสรดา เสาหะสกุล นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ โดยกิจกรรมเสวนาจะมุ่งเน้นการนำเสนอนิทานสำหรับเด็กปฐมวัยจำนวน 3 เรื่อง คือ ไฟนาน่ากลัวจัง ไฟนาอย่าก่อนะ และฝุ่นเมืองเรื่องใหญ่ ซึ่งเป็นนิทานที่สอดแทรกองค์ความรู้อย่างง่ายให้กับเด็กๆ ปฐมวัย รวมถึงผู้ปกครองที่อ่านให้กับเด็กๆ ฟัง อีกทั้งภายในงาน ศวอ. ได้นำหนังสือนิทานทั้ง 3 เรื่องมาแจกให้กับผู้เข้าฟังเสวนา ทั้งนี้ รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล ได้แนะนำการป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพตนเองจากสถานการวิกฤตฝุ่น PM2.5 ในปัจจุบันว่า ควรใส่หน้ากากอนามัยที่ได้รับรองมาตรฐานจาก มอก. เช่น N95 ที่สามารถช่วยป้องกันฝุ่นได้ถึงระดับ PM0.1 รวมถึงการสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องฝุ่นให้กับตนเอง นำไปสู่การดูแลตนเองได้ในอนาคต ต่อไป

Read more
Footer